ช่วงสามสี่เดือนที่ผ่านมา ตัวผมเพิ่งเริ่มฝึกวิ่งออกกำลังกายครับ หลังจากที่ในไทยและรอบโลก การวิ่งเริ่มจะมาบูมได้สักสองสามปีแล้ว คงเพราะเป็นการออกกำลังกายที่สามารถทำได้ทุกที่ อุปกรณ์เพียงนิดเดียว(?)คนเลยนิยมกันมากขึ้น ส่วนของผมเองไม่ได้ตามกระแสใดๆ แค่มีเป้าหมายหลักๆคือต้องการให้หัวใจแข็งแรงมากขึ้นกับร่างกายกระฉับกระเฉงตลอด พอเริ่มฝึกก็มีโอกาสได้ใส่รองเท้าวิ่งของ NIKE ในรุ่นต่างๆกัน ที่ออกมาในรอบปี 2018 นี้ เลยรวบรวมข้อมูลมารีวิวให้คร่าวๆสำหรับผู้ที่สนใจหารองเท้าวิ่งมาออกกำลังกาย ขอออกตัวก่อนว่าแม้จะออกกำลังกายมาเรื่อยๆ แต่ส่วนมากก็ฟิตเนสยกน้ำหนักทั่วไป เพิ่งเริ่มฝึกวิ่งได้ไม่นาน ไม่ได้มีความรู้เรื่องการวิ่งมากก่อนสักเท่าไหร่ รีวิวนี้เลยน่าจะเหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มต้นเหมือนกันครับ (ถ้ามีข้อมูลใดๆผิดพลาดก็แจ้งมาได้ครับ)
Nike รุ่นที่จะมีรีวิวมีทั้งหมดดังนี้
- Free RN Flyknit 2017
- Revolution 3 (2016-2017)
- Free RN 2018
- Vapor Street Flyknit
- Zoom Fly Flyknit
- Zoom Fly SP
- Zoom Pegasus Turbo
- Vaporfly 4% Flyknit
ไปเริ่มที่คู่แรกกันเลยครับ
FREE RN FLYKNIT 2017
รุ่นนี้ทำมาเป็นผ้าถักนิตติ้ง หรือที่ NIKE เรียกว่า Flyknit ก็จะถักมาเป็นแผ่นๆชิ้นเดียวแล้วก็มาเย็บติดกับตัวพื้นเลย ข้อดีคือใส่สบายเท้ามาก ระบายอากาศดี แต่เนื่องจากความบางมันก็จะทำให้ไม่สามารถป้องกันการกระแทกอะไรได้ โดนอะไรหล่นใส่เท้านี่ก็เจ็บเลย ไม่มีรองเท้าหนาๆมารองรับ
โครงสร้างมี Flywire คือเชือกรองเท้าจะโยงกับโครงที่โอบรอบเท้า ทำให้กระชับมากขึ้น
มาที่ตัวพื้น พื้นบางมาก ตามชื่อรุ่น FREE คือให้อิสระเหมือนไม่ได้สวมใส่รองเท้าเวลาวิ่ง เวลาวิ่งเลยจะใช้งานขากับเท้าค่อนข้างหนัก ไม่เหมาะสำหรับวิ่งระยะไกล ขาล้าแน่นอน ตัวพื้นมีการเซาะร่องเพื่อให้งอได้เต็มที่ บวกกับตัว upper ที่เป็นผ้า flyknit คือสามารถม้วนพับรองเท้าได้เลย ประหยัดพื้นที่เก็บ
เท่าที่ลองใช้งานมา คิดว่าเหมาะสำหรับใส่เดินทั่วๆไปในแต่ละวัน ใส่เดินสบายกว่าวิ่ง
REVOLUTION 3
คู่นี้ซื้อใส่มาเป็นปีๆแล้ว ซื้อเพราะราคาถูกเลย 555 เหมาะสำหรับใส่ออกกำลังกายทั่วไป ในยิม ในฟิตเนส รองเท้าค่อนข้างหนากันกระแทกได้ดี รับน้ำหนักแนวตั้งได้ ออกกำลังกายจำพวกยกน้ำหนักได้โอเค พื้นแข็งไปหน่อย ไปวิ่งอาจจะเหนื่อยนิด แต่จริงๆคือรุ่นนี้ก็ทำมาสำหรับการวิ่งนะ
FREE RN 2018
Free RN ของปี 2018 ตัวนี้ไม่ใช่ผ้า Flyknit แต่ก็ใส่สบาย ตรงรอบส้นกับตาตุ่มเป็นเหมือนแถบผ้ายางยืด กระชับข้อเท้าดี แต่เวลาวิ่งรู้สึกส้นมันจะหลุดๆตลอด พื้นเปลี่ยนทรงนิดหน่อยจากของปี 2017 เป็นร่องเหมือนเดิมแต่จะเป็นรูปทรง Honeycomb และมีร่องทะแยงมุมรูปตัว Y (รุ่น2017 ร่องอยู่ขอบแต่ไม่ลึกเท่า 2018) รายละเอียดอื่นๆก็เหมือนกับตัว Free RN flyknit 2017 คือ มีโครงสร้าง Flywire เบา พื้นบาง คิดว่าเหมาะกับใส่เดินมากกว่าวิ่ง ถ้าวิ่งก็ระยะใกล้ๆครับ
VAPOR STREET FLYKNIT
คุ้นๆไหมว่าทรงแบบรุ่นไหน รุ่นนี้ทำทรงเลียนแบบรุ่น Zoom Vaporfly Elite รุ่นโปรสุด(?) ที่มืออาชีพในสังกัด NIKE ใช้กัน แต่อันนี้ทำมาสำหรับใช้เดินเล่นเดินเที่ยวทั่วๆไป จะต่างก็ตรงไม่มีพวกแผ่นคาร์บอนรับแรงกระแทก และตัวพื้นโฟมก็ใช้โฟม React
ตัว Upper เป็นผ้า Flyknit แข็งๆ แต่ยืดหยุ่นใส่สบายมาก มีโลโก้ Swoosh ขนาดใหญ่ลงมากินพื้นที่ถึงตัวโฟม ตรงตาตุ่มกับข้อเท้าก็มีก้อนอะไรสักอย่างในผ้า flyknit คอย Support ข้อเท้า
จริงๆรองเท้านี้ผลิตมาสำหรับใช้งานชีวิตประจำวันทั่วๆไป ไม่ได้ออกแบบมาให้ใส่วิ่ง เพราะด้วยตัวฐานพื้นค่อนข้างแคบ แล้วบนโฟมจะไม่มีแผ่นคาร์บอนอะไรมารับแรงเลย มีโฟมล้วนๆ เพราะฉะนั้นเวลาวิ่งจะยวบๆหน่อย แต่ก็ยังเด้งๆมากอยู่ เท่าที่ลองใส่วิ่งมา คิดว่าไม่เหมาะกับพื้นที่ๆต้องเลี้ยวไปมาตลอด เหมาะกับวิ่งเส้นตรงๆมากกว่า ยิ่งถ้าพื้นมีเอียงต่างระดับด้านข้างเท้านี่จะไม่เหมาะเลย เพราะพื้นยวบ ฐานแคบ ไม่มั่นคงสำหรับเวลาวิ่งสักเท่าไหร่ ปลายเท้าจะทำให้สะดุดตลอดเวลาวิ่งก้าวผิดจังหวะ เป็นรองเท้าคู่เดียวที่ผมใส่วิ่งแล้วสะดุดปลายเท้า (ก็มันไม่ได้ออกแบบมาสำหรับวิ่งอ่ะ)
ถึงแม้มันจะเป็นรองเท้ากึ่งแฟชั่น (กล่องสีแดง ไม่ใช่กล่องส้ม) แต่มันก็สามารถเอาไปวิ่งได้โอเคระดับนึงเลย เด้งมากตามสไตล์โฟม React เสียก็แค่ฐานมันไม่มั่นคงสักเท่าไหร่
ZOOM FLY FLYKNIT
พัฒนามาจาก Zoom Fly ตัวเก่า ด้วยการเปลี่ยน Upper เป็นผ้า Flyknit กระชับใส่สบายมากขึ้น (แล้วแต่คนอ่ะนะ) มีแผ่น Carbon Fiber มาให้ด้วย แบบเดียวกับที่ใช้ในรุ่นโปรๆ ตัวพื้นโฟมเปลี่ยนมาใช้โฟม React เด้งมากกก ข้อสังเกตคือถึงแม้จะเป็น React เหมือนกัน ผมกลับรู้สึกว่ามันไม่อึดเท่า React ของตัว Vapor Street Flyknit มันอาจจะมีแบ่งคนละเกรดอีก
ใส่ครั้งแรกความรู้สึกคือ เหมือนมันพุ่งไปข้างหน้าตลอดเวลา น่าจะเพราะตัวแผ่น Carbon Fiber มันบังคับให้ปลายเท้าโค้งตลอด เวลายืนเฉยๆหรือเดิน มันจะเหมือนหน้าจิ้มลง พอลองใส่วิ่งรู้สึกว่าถ้าวิ่งช้าๆจะไม่ค่อยสบายสักเท่าไหร่ จะเจ็บขาด้วย ต้องเร่งความเร็วไปให้มากระดับนึงมันถึงจะโอเค คิดว่ารุ่นนี้น่าจะเหมาะสำหรับคนที่เน้นวิ่งเร็วๆ ไม่ก็เอาไปใช้แข่งเลย ถ้าวิ่งทั่วๆไป ช้าๆ รุ่นนี้อาจจะไม่เหมาะสักเท่าไหร่
อัพเดทหลังจากวิ่งไปประมาณ 90 km
รองเท้าเด้งดีกว่าเดิม ไม่แน่ใจว่าเพราะผมวิ่งทำเวลาได้ดีขึ้นรึป่าว (ประมาณเพซ 5.45-6.00 ) พอวิ่งแล้วหาจังหวะได้ มันจะเด้งไปเรื่อยๆเลยครับ ไม่เจ็บขาแล้ว
ZOOM FLY SP
Zoom Fly ตัวนี้จะใช้ Upper ที่เรียกว่า Tranlucent TPE (ThermoPlastic Elastomer) คือเหมือนพลาสติกถักสานเป็นแผ่นใสๆ มองเห็นเท้าเราเวลาใส่ และถึงแม้จะเป็นพลาสติกแต่ก็บาง เบา แข็งแรง และมีรูพรุนระบายอากาศถี่พอสมควร ใส่สบาย ไม่รู้สึกเหมือนสวมถุงพลาสติก
ตัวโครงคล้ายๆ Flywire กระชับเท้าดี ส่วนตัวพื้นเป็นโฟม Lanarlon เด้งดี อึดพอควร มีแผ่นไนลอนคอยรับแรงกระแทกด้วย รุ่นนี้ลองใส่วิ่งนิดเดียว(กลัวพัง) วิ่งทำความเร็วได้ดีเลย เหมาะสำหรับซ้อมหรือแข่ง หรือจะใส่เดินในทุกๆวันก็ได้ครับ
ZOOM PEGASUS TURBO
รุ่อันนี้เหมือนพัฒนามาจากรุ่นเก่าๆ ด้วยการเอาหลายๆรุ่นมารวมกัน เลยได้โฟม Zoom X จะรุ่นโปรๆมาใส่ซะเลย แว้บแรงที่เห็นคือดีไซน์สวย มีแถบซิ่งด้วย ตัว Swoosh ก็ใหญ่ หล่อเท่
ตัว upper ทำจากอะไรไม่รู้ เหมือนพลาสติก TPE สองชั้น มีตาข่ายสานตรงกลาง ตรงรอบข้อเท้าจะหนานุ่มหน่อย Support ข้อเท้าดี ตัวโครงมี Flywire ด้วย กระชับสุดๆ รูปทรงรองเท้าจะเพรียวๆลู่ลม
ลองใส่วิ่ง พบว่าเด้ง รับแรงดีมากเพราะพื้นเป็น Zoom X แต่ก็น่าจะอึดกว่ารุ่นโปรสูงๆเพราะมีพื้นยางรองมาให้อีก กันสึกได้? แลกกับน้ำหนักที่เพิ่มมา รุ่นนี้เหมาะกับใส่ซ้อม ใส่แข่ง วิ่งช้า วิ่งเร็วได้หมด จะใส่เดินเที่ยวก็โอเคอยู่ ข้อเสียนิดนึงที่เจอคือเวลาวิ่งส้นชอบลื่นๆหลุด อาจจะเพราะมัดเชือกไม่ดี และตัวพื้นโฟมที่เป็น 2 ชั้น ชั้นล่างเป็น ZoomX ที่มีติดยางไว้ที่พื้น ชั้นกลางก็น่าจะเป็น ZoomX เหมือนกัน . เสียวๆมันหลุดออกจากกันมากๆ (เห็นคนบ่นว่ากาวหลุดเยอะละ) แนะนำว่าเวลาถอดรองเท้า ให้ก้มลงถอดเลยครับ อย่าใช้ส้นเท้าอีกค้างเหยียบตรงสั้นลแ้วถิด
อัพเดทหลังจากวิ่งไปประมาณ 90 km
สภาพพื้นยังดีอยู่ครับ แล้วก็รู้สึกว่ามันซัพพอร์ทดีเหมือนเดิม เด้งๆเหมือนเดิม
อัพเดทหลังจากวิ่งไปประมาณ 120+ km
สภาพพื้นยังดีอยู่ครับ ช่วงนี้ใช้คู่นี้ซ้อมตลอดเลย (Jan-March 2019) กล้ายืนยันว่ารุ่นนี้เหมาะสำหรับเอาใช้ซ้อมมากๆ ได้ทั้งช้าและเร็ว หรือจะใช้วิ่งแข่งเลยก็ได้ โฟม ZoomX ซับแรงได้เยอะจริงๆครับ คู่นี้ทำให้ผมวิ่ง pace 5-6 ได้โดยที่ HR zone 2-3 และสามารถทำความเร็วไปถึง pace 4 ได้เป็นระยะเวลานึงโดยที่ไม่เหนื่อยเพิ่มเลย
VAPORFLY 4% FLYKNIT
รุ่นโปรสุดที่มีขาย(ในราคาเอื้อมถึง) แต่ก็หายากมากๆ วางขายออนไลน์ไม่กี่นาทีหมด รายละเอียดจะเหมือนรุ่น ZOOM FLY FLYKNIT แต่จะเป็นพื้น ZOOM X เน้นๆ มีพื้นยางนิดเดียว เพราะคงต้องการลดน้ำหนักให้เบาที่สุด เลยได้ยินมาว่าพื้น ZOOM X รุ่นนี้จะไม่ทนทานเหมือนพื้นของรุ่นอื่นๆ คนเลยเอาไปใช้แข่งกันอย่างเดียวเลย
ข้อสังเกตคือ ถึงแม้จะเป็นเบอร์เดียวกันกับ ZOOM FLY FLYKNIT แต่พื้นจะเพรียวและแคบมากกว่า ใครที่เท้ากว้างคิดว่าไม่น่าเหมาะ คู่นี้ยังไม่กล้าใส่วิ่งจริงจัง ถ้าลองแล้วจะมารีวิวอีกที 555+
หลังจากทดลองใส่ซ้อมวิ่งและเดินไป 5 km และนำไปออกวิ่ง 10.5k
ความรู้สึกแรกเลยคือมันเบามากกกกก ถึงแม้ทรงจะเรียวกว่า Zoom Fly Flyknit แต่ก็เลือกไซส์เดียวกันได้ เพราะรุ่นนี้ต้องการความกระชับกับเท้ามากที่สุดเพื่อที่จะเรียกพลังได้เต็มที่อยู่แล้ว ใส่หลวมไปไม่ดีแน่ๆ
ตอนซ้อม ซ้อมกับ tread mill แค่ 5k ยังไม่เห็นผลชัดมาก รู้แค่ว่าซัพพอร์ทดีมาก ไม่รู้สึกปวดเมื่อยเลย
พอเอาไปวิ่ง 10.5k ก็สามารถทำเวลาได้ดีกว่าที่ซ้อมมากๆ จากปกติวิ่งเพซ 6 กว่าๆ แต่นี่สามารถจบ 10.5km ได้ในเวลาไม่ถึงหนึ่งชม. (มีทั้งวิ่งทั้งเดิน) เนื่องจากรองเท้าซัพพอร์ทดีมาก เลยไม่รู้สึกปวดขาอะไรเลย ถ้าเราวิ่งลงฟอร์มเท้าได้ถูกท่า ถูกจังหวะ จะช่วยให้เด้ง พุ่งไปข้างหน้าได้มากๆ คือเห็นผลชัดมาก
ถ้าเอา Vaporfly 4% Flyknit เทียบกับ Zoom Fly Flyknit ตรงวัสดุน่าจะต่างกันแค่พื้นโฟม Vaporfly 4% Flyknit จะใช้ ZOOM X ส่วน Zoom Fly Flyknit จะใช้ React รู้สึกว่า Zoom X จะเด้งกว่า และรับแรงกับซัพพอร์ทได้ดีกว่า React รู็สึกว่าเวลาใช้ตัว Zoom Fly Flyknit จะปวดขามากกว่า คงเพราะซัพพอร์ทได้ไม่มาก แล้วจำเป็นต้องวิ่งด้วยความเร็วมากๆถึงจะเด้งๆพุ่งๆ
สภาพพื้นหลังจากผ่านไป 15-20 km
เป็นที่รู้กันว่า Zoom X เบามากๆ เด้งมากๆ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความไม่ทนทาน หลายคนเลือกที่จะใส่เฉพาะตอนแข่งเท่านั้น (เพราะมันแพง ใช้ซ้อมบ่อยก็เปลือง) สภาพของคู่ผมก็ตามภาพครับ มีถลอกตรงขอบๆส้นบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในสภาพที่ดีอยู่ ก็ต้องลองดูกันต่อไปครับ เพราะเคยเห็นมีคนรีวิวไว้ว่าวิ่ง 300km แล้วสภาพยังไม่แย่มาก จะมาแย่ๆเละๆเอาตอน 400km แค่นี้ก็คุ้มมากแล้วครับ
เป็นที่รู้กันว่า Zoom X เบามากๆ เด้งมากๆ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความไม่ทนทาน หลายคนเลือกที่จะใส่เฉพาะตอนแข่งเท่านั้น (เพราะมันแพง ใช้ซ้อมบ่อยก็เปลือง) สภาพของคู่ผมก็ตามภาพครับ มีถลอกตรงขอบๆส้นบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในสภาพที่ดีอยู่ ก็ต้องลองดูกันต่อไปครับ เพราะเคยเห็นมีคนรีวิวไว้ว่าวิ่ง 300km แล้วสภาพยังไม่แย่มาก จะมาแย่ๆเละๆเอาตอน 400km แค่นี้ก็คุ้มมากแล้วครับ
(Vaporfly 4% Flyknit วิ่งไป 15-20 km สภาพพื้นพอๆกับ Zoom Fly Flyknit ที่วิ่งไป 90-100km)
ปล.แอบกระซิบ พรุ่งนี้ วันที่ 1 มกราคม 2019 (น่าจะ 8.00น.) ที่เว็บ NIKE Online Store จะมีรุ่นนี้สีน้ำเงิน Restock ใครอยากได้แนะนำให้เฝ้าคอมรอเลย ไม่เกินสองนาทีหมดเกลี้ยงแน่นอน
รีวิวแถม
MIJIA 2018 (XIAOMI)
แถมรีวิวของรองเท้าวิ่งจากแบรนด์จีนชื่อดัง Mijia หรือแบรนด์รองเท้าของ Xiaomi
สัมผัสแรกที่ได้จับคือ หนักมากกกกก แต่สวยนะ ผ้านิตติ้งนุ่มใส่สบาย ชอบมากกว่า Primeknit ของ adidas ซะอีก มีโครงสร้างที่เรียกว่า Fish Bone Structure คอยกระชับเท้า วัสดุคุณภาพดีมากเลยทีเดียว ทาง Mi เคลมมาว่าทนทานมาก สามารถนำไปซักในเครื่องซักผ้าได้เลย
ลองเอามาใส่วิ่ง พบว่าก็โอเคระดับนึง แต่พื้นแข็งไม่ค่อย Support เท่าไหร่ และด้วยน้ำหนักที่มาก ทำให้ไม่ชอบใส่วิ่ง แต่ถ้าใส่ออกกำลังกายทั่วไป หรือใส่เดินประจำวัน ถือว่าเหมาะมากเลย คุ้มราคามากๆ สวยด้วย มีคนทักถามยี่ห้อหลายคน
สรุปแบบสั้นๆได้ตามนี้ครับ
- Free RN Flyknit 2017 ใส่เดินได้ทั้งวัน วิ่งแล้วปวดขา เหมาะสำหรับคนที่มีกำลังขาเยอะๆ เน้นวิ่งสั้นๆ
- Revolution 3 (2016-2017) ออกกำลังกายทั่วไปๆ วิ่งก็ได้
- Free RN 2018 ออกกำลังกายทั่วๆไป วิ่งได้บ้าง เหมือน Free RN Flyknit 2017
- Vapor Street Flyknit หล่อ เท่ ใส่เดินสบายมาก วิ่งได้แต่ควรเน้นทางตรงเรียบๆ
- Zoom Fly Flyknit เน้นวิ่งเร็วอย่างเดียว เดิน+วิ่งช้าจะไม่เหมาะ
- Zoom Fly SP ใช้วิ่ง ซ้อม แข่งได้ ทำความเร็วได้
- Zoom Pegasus Turbo ได้ทั้งเดิน วิ่ง ช้า เร็ว ทำความเร็วได้มาก
- Vaporfly 4% Flyknit เหมาะสำหรับแข่ง ตัดส่วนไม่จำเป็นออกจนหมด
หวังว่ารีวิวสั้นๆนี้จะช่วยประกอบการตัดสินใจได้บ้าง สำหรับรีวิวเรื่องๆอื่นๆจะอยู่ในหมวด Stuff and Gears ครับ